เลขาธิการ กสทช. เผยผลการหารือกับกระทรวงไอซีที กรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทาน คลื่น 1800 MHz

  • Print

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.)
87 ถนนพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400  
โทรศัพท์ 0-2271-0151 ต่อ 315 -318 โทรสาร : 0-2290-5240  
E-Mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เลขาธิการ กสทช. เผยผลการหารือกับกระทรวงไอซีที กรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทาน คลื่น 1800 MHz
     นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เผยผลการหารือระหว่าง กสทช. กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ไอซีที) กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กรณีการสิ้นอายุสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz ว่า วันนี้ (16 กันยายน 2556) นี้ มีการหารือกันในประเด็นหลัก 3 ประเด็น ประเด็นแรก เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงตามกฎหมายคลื่นจะกลับมาอยู่ที่ใคร
     และได้มีการทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... จะเป็นการต่ออายุสัญญาสัมปทาน ข้อเท็จจริง ประกาศฉบับนี้ จะคงสถานะของการดำเนินงานของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ไว้ว่าต้องให้บริการลูกค้าที่ยังคงค้างอยู่ในระบบ โดยที่ไม่มีการรับลูกค้าใหม่เข้าสู่ระบบเด็ดขาด
     นายฐากร กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ที่ว่า (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... จะทำให้รายได้จากสัมปทานที่เคยนำส่งรัฐหายไป ข้อเท็จจริงคือ ประกาศฉบับนี้ เน้นที่การคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจนถึงช่วงเวลาการประมูลคลื่นความถี่แล้วเสร็จ รายได้ที่มีการนำส่งรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหักเงินค่าเช่าโครงข่าย ค่าใบอนุญาต ค่า USO ไว้ ส่วนที่เหลือจะส่งเข้ากระทรวงการคลังเพื่อนำเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
     ประเด็นที่ 3 กรณี กสทช. รู้ว่าสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงนานแล้วทำไมไม่มีการให้เปิดประมูลล่วงหน้าก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด ข้อเท็จจริงคือ ตามกฎหมายการที่ กสทช. จะให้มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ใดๆ ได้นั้น กฎหมายกำหนดให้ กสทช. จะต้องจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ทั้งสามแผน  ได้แก่ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ให้ แล้วเสร็จก่อนจึงจะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ได้ ซึ่ง กสทช. หลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก็ได้รีบดำเนินการจัดทำแผนแม่บททั้งสามแผนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งแผนแม่บททั้งสามแผน ก็ได้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2555 ซึ่ง กสทช. ก็ได้มีการเปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 2.1 GHz หรือที่เรียกกันว่าใบอนุญาต 3G ทันที พร้อมกันนี้ในส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่สัมปทานกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2556 ซึ่งตามข้อเท็จจริงยังเป็นปัญหาข้อ กฎหมายระหว่างกระทรวงไอซีที และ กสทช. ที่ยังไม่มีความชัดเจน ว่าคลื่นความถี่นั้นจะคืนมาที่หน่วยงานใด ทั้งกระทรวงไอซีทีและกสทช. จึงได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันในการหาทางออก แต่ก็ยังไม่สามารถหา ข้อยุติในเรื่องดังกล่าวได้ และล่าสุดคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาในส่วนที่กระทรวงไอซีทีเสนอวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 74 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อขอขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปแล้วว่า ให้กระทรวงไอซีที หารือกับ กสทช. เพื่อหาข้อสรุปเรื่องดังกล่าว ดังนั้นการที่จะให้มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวล่วงหน้าก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจดำเนินการได้ เปรียบเหมือนการเอาทรัพย์ไปประมูลขาย จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อทรัพย์นั้นอยู่ในมือ
  ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317  
โทรสาร : 0-2290-5241